สำรวจปฏิกิริยาหลังทักษิณ ชินวัตรบอกว่ากฎหมาย ม.112 ไม่ใช่ปัญหา-ชวนถวายความจงรักภักดีให้ถูกทาง

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร

ที่มาของภาพ, กองโฆษก พรรคเพื่อไทย

คำบรรยายภาพ,

น.ส.แพทองธารนิยามตัวเองว่าเป็น "คน Gen Y ที่ใกล้ชิดกับคน Gen Z เพิ่งมีลูกเป็นคนรุ่นอัลฟา และเป็นลูกของคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์" ดังนั้นเธอจึงเชื่อว่าจะสามารถเป็นตัวประสานคนรุ่นต่าง ๆ เข้าด้วยกันได้ในฐานะที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย

การออกมาแสดงความคิดเห็นต่อกฎหมายอาญามาตรา 112 ของนายทักษิณ ชินวัตร เพียง 2 วันหลังจากพรรคเพื่อไทยประกาศว่าจะนำข้อเสนอของกลุ่ม "ราษฎร" ที่ต้องการให้แก้ไขกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่สภา ทำให้หลายฝ่ายเกิดคำถามว่าท่าทีของอดีตนายกรัฐมนตรีเป็นไปในทางเดียวกับพรรคที่เขาเพิ่งส่งลูกสาวคนเล็กมาเป็นที่ปรึกษาหรือไม่

ความเห็นของนายทักษิณที่เผยแพร่ทางเฟซบุ๊กของเขาช่วงดึกวานนี้ (2 พ.ย.) มีใจความสำคัญว่า ตัวกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งบังคับใช้มาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้วนั้นไม่มีปัญหา แต่ปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายข้อนี้ เช่น การละเมิดสิทธิมนุษยชน อยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายของคนในกระบวนการยุติธรรม และคนที่นำประเด็นนี้มาสร้างความแตกแยก

"กฎหมายเองไม่เคยเป็นปัญหา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ มันเกิดจากการปฎิบัติที่ไม่ถูกต้อง เพราะว่าบุคคลในกระบวนการยุติธรรมอาจจะเกิดจากความกลัวหรืออาจจะเกิดจากความอยากแสดงความจงรักภักดีโดยไม่ยึดหลักนิติธรรม แล้วเกิดการใช้อำนาจในทางที่ผิดหรือ Abuse of Power เพื่อหวังผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางรัฐบาล เพื่อหวังผลทางการเมือง เลยทำให้เกิดความไม่พอใจ" นายทักษิณระบุ

เขาเสนอให้รัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จับเข่าคุยกับกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เรียกร้องให้ยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 ควบคู่ไปกับการปรับกระบวนการในการดำเนินคดีตามมาตรา 112 เสียใหม่ให้เป็นระบบระเบียบ ไม่กลั่นแกล้ง ไม่หาเรื่อง

นายทักษิณยังได้เรียกร้องให้ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้านมาตรา 112 "หยุดดรามา" และหันมาพูดคุยกัน "เพื่อการถวายความจงรักภักดีที่ถูกต้อง ถูกทาง ไม่ให้เจ้านายต้องถูกครหาโดยที่ไม่รู้"

ท่าทีทักษิณเหมือนหรือต่างจากเพื่อไทย

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่กลุ่ม "ราษฎร" จัดชุมนุมใหญ่ที่แยกราชประสงค์ ชูข้อเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 นายชัยเกษม นิติสิริ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย ได้ออกจดหมายเปิดผนึกประกาศจุดยืนของพรรคต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว โดยระบุว่าพรรคเพื่อไทยพร้อมนำข้อเสนอของภาคประชาชนเข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภา

นายชัยเกษมระบุผ่านจดหมายฉบับนี้ด้วยว่า นอกจากจะเป็นการตรวจสอบระบบการทำงานของบุคคลในกระบวนการยุติธรรมแล้ว การนำเสนอวาระนี้เข้าสู่สภาจะเป็นการตรวจสอบการสั่งการโดยรัฐบาล รวมถึงการแก้ไขกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม "เพื่อให้นักโทษทางความคิดได้รับการปล่อยตัว และไม่ให้เกิดนักโทษทางความคิดเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูความเชื่อมั่นในระบบยุติธรรมของประเทศไทย"

ไม่ว่าจะเป็นเพราะข้อความที่คลุมเครือหรือจังหวะเวลาของการประกาศท่าทีที่สอดรับกับการเคลื่อนไหวของกลุ่ม "ราษฎร" แบบทันท่วงที จดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ทำให้หลายคนเข้าใจว่าพรรคเพื่อไทยจะผลักดันการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ในสภา ซึ่งเมื่อนายทักษิณออกมาฟันธงว่าตัวบทกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีปัญหา และวิจารณ์ผู้ที่ออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 ว่าทำไป "ด้วยความโกรธ" หรือ "ต้องการจะยกเลิกโดยไม่มีเหตุผล" จึงทำให้มองได้ว่าจุดยืนของนายทักษิณไม่ตรงกับพรรคเพื่อไทยที่ทราบกันดีว่ามีเขาเป็น "นายใหญ่"

พรรคเพื่อไทยใช้โอกาสนี้เคลียร์จุดยืนของพรรคต่อเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ชี้แจงวันนี้ (3 พ.ย.) ว่าพรรคเพื่อไทยเพียงต้องการนำประเด็นปัญหาเรื่องการใช้กฎหมายมาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมืองทำให้ประชาชนตกเป็นนักโทษทางความคิด เข้าสู่กระบวนการแก้ไขในสภา เพื่อป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งบานปลาย ส่วนสภาจะแก้ปัญหานี้อย่างไรก็เป็นเรื่องของสมาชิก และ "พรรคเพื่อไทยไม่เคยบอกว่าจะทำอะไร"

ด้าน น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ โฆษกพรรคเพื่อไทย บอกกับบีบีซีไทยว่าจุดยืนของพรรคเพื่อไทยกับของอดีตนายกฯ ทักษิณนั้น "สอดคล้อง" กัน คือมองเห็นปัญหาที่ผู้มีอำนาจนำกฎหมายนี้มาใช้เป็นเครื่องมือในการเล่นงานผู้เห็นต่างทางการเมือง

"จดหมายเปิดผนึกของนายชัยเกษมระบุชัดเจนว่าพรรคเพื่อไทยต้องการนำข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมเข้าสู่สภาฯ ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อเสนอของท่านอดีตนายกฯ ทักษิณที่เสนอให้ว่าต้องมีพื้นที่ในการพูดคุยกันในประเด็นนี้ ซึ่งเราคิดว่าการรับฟังเสียงของประชาชน การนำข้อเสนอและสิ่งที่เขาต้องการให้แก้ไขมาพูดคุยกันในสภาฯ ให้หาข้อยุติด้วยกระบวนการทางรัฐสภา" โฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าว

เธอย้ำว่า ณ จุดนี้ เพื่อไทยยังไม่ได้เสนอให้แก้ไขกฎหมายมาตรา 112 แต่เห็นว่าต้องนำเสนอข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมมาพิจารณา

"ตัวกฎหมาย (มาตรา 112) เป็นแบบนี้มาตั้งแต่ดั้งเดิม ก็ไม่เคยมีปัญหาอย่างที่ท่านทักษิณบอก แต่ตอนนี้บริบทเปลี่ยนไป จึงควรมาทบทวนกันว่าสิ่งที่ประชาชนคนรุ่นใหม่เรียกร้องและเห็นว่ามันเป็นปัญหาคืออะไร..เราเองไม่มีสิทธิที่จะไปบอกว่าต้องแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมาย สิ่งที่เราต้องการคือมาดูและมีฉันทามติร่วมกันว่ามีอะไรควรจะคงไว้เหมือนเดิมหรืออะไรที่ต้องแก้ไขหรือไม่" น.ส. ธีรรัตน์อธิบายเพิ่มเติม

นักวิชาการชี้ ท่าทีต่อ ม.112 มีผลต่อการเลือกตั้ง

ดร. สติธร ธนานิธิโชติ รักษาการผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า บอกกับบีบีซีไทยว่า การแสดงท่าทีต่อเรื่องมาตรา 112 ของอดีตนายกรัฐมนตรี อาจจะมีผลต่อความคิดของผู้สนับสนุนบางกลุ่มที่เริ่มหันมาให้สนใจพรรคเพื่อไทย ที่เพิ่งเปิดตัว น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรือ "อุ๊งอิ๊ง" ลูกสาวคนเล็กของนายทักษิณ ในตำแหน่งประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมไปเมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่ผ่านมาที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จ. ขอนแก่น

โดย น.ส.แพทองธารวางบทบาทตัวเองไว้เป็นตัวเชื่อมประสานคนรุ่นใหม่เข้ากับพรรค ด้วยการทำงานเพื่อสนับสนุนคนรุ่นใหม่ทั้งด้านการศึกษา เทคโนโลยี และนวัตกรรม

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

"ตัวกฎหมายไม่เคยมีปัญหา แต่คนที่เป็นปัญหาคือคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมและคนที่นำประเด็นนี้มาสร้างความแตกแยกในสังคมต่างหาก"

อย่างไรก็ตาม ดร.สติธรมองว่าความเห็นของนายทักษิณต่อเรื่องมาตรา 112 ดูเหมือนจะไม่เป็นไปในทางเดียวกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่มีความเชื่อเชิงอุดมการณ์ประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ รัฐธรรมนูญ และต้องการการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง รวมทั้งการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีพรรคไหนที่มีจุดยืนที่ชัดเจนเท่ากับพรรคก้าวไกล

"โจทย์คนรุ่นใหม่ไม่ใช่แค่เรื่องอายุ แต่ความพยายามในการเสนอนโยบายด้าน ๆ ต่าง รวมทั้งด้านเศรษฐกิจตอบโจทย์คนรุ่นใหม่แล้ว ก็อาจจะไม่เพียงพอสำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่บางกลุ่ม" ดร. สติธรกล่าว

นักวิชาการรายนี้ระบุว่า จุดยืนต่อมาตรา 112 ยังเป็นปัญหาบนทางสองแพร่ของพรรคเพื่อไทยอยู่ หากต้องการที่จะได้รับผลการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย ก็จำเป็นต้องนั่งในใจของคนรุ่นใหม่ให้ได้มากที่สุด

"หากมองว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เนื้อหาของกฏหมาย แต่กลับอยู่ที่การบังคับใช้นั้น คนรุ่นใหม่อาจจะมองว่าที่ผ่านมาก็มีการต่อสู้มาเยอะแล้ว และสุดท้ายต้องแก้กฎหมายอยู่ดี และแก้เชิงระบบโครงสร้าง ไม่ใช่แก้ไขในเชิงการปฏิบัติ"

อย่างไรก็ตาม ดร. สติธรวิเคราะห์ว่าพรรคเพื่อไทยมีคนรุ่นเก่าเป็นฐานเสียงที่สนับสนุนพรรคอยู่จำนวนไม่น้อย การกำหนดจุดยืนต่อประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์หรือมาตรา 112 จึงต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่พรรคจะสูญเสียฐานเสียงที่เป็นคนรุ่นเก่า

"คณะราษฎรยกเลิก 112" มองพรรคการเมืองเกิด "ภาวะฝุ่นตลบ"

นายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือ "ครูใหญ่" แกนนำกลุ่ม "ราษฎร" และ "คณะราษฎรยกเลิก 112" มองความเคลื่อนไหวของแต่ละพรรคการเมืองช่วงนี้ รวมทั้งพรรคเพื่อไทยว่าเป็น "ภาวะฝุ่นตลบ"

เขาบอกกับบีบีซีไทยว่า ภายหลังคณะราษฎรฯ ประกาศข้อเรียกร้องไปแล้ว ก็พร้อมจะแสดงหาความร่วมมือและถามหาจุดยืนของพรรคการเมือง ซึ่งขณะนี้เห็นว่ายังต้องให้เวลาพรรคการเมือง "ได้ทบทวนตัวเอง โดยไม่บีบคั้นจนเกินไป"

นายอรรถพลกล่าวด้วยว่า แม้กฎหมายอนุญาตให้ทำประชามติเพื่อยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว กระบวนการขั้นตอนการทำประชามติเรื่องยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นไปได้ยาก

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

หลังอ่านแถลงการณ์ในที่ชุมนุมเมื่อวันที่ 31 ต.ค. น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ "รุ้ง" กรีดแขนตัวเองเป็นเลข 112 และขีดฆ่า เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าจะทุ่มเทเดินหน้ารณรงค์ยกเลิกกฎหมายนี้ด้วยแรงกาย แรงใจ และแม้กระทั่งชีวิต

คณะราษฎรฯ เห็นว่าการผลักดันในเรื่องนี้ต้องทำผ่านกระบวนการการเลือกตั้ง

"เราจะรณรงค์ให้ชัดเจนไปเลยว่า ในการเลือกตั้งที่จะมาถึง ไม่ว่าจะเร็วหรือช้า พรรคการเมืองต้องประกาศให้ชัดเจนว่าแก้หรือไม่แก้ หรือยกเลิก หรือไม่ยกเลิกมาตรา 112" นายอรรถพลกล่าว

"ตัวเลข (ผลการเลือกตั้ง) ก็จะบ่งบอกไปเลยว่า จำนวนของประชากรที่สนับสนุนการยกเลิกมาตรา 112 มีเท่าไหร่...ให้เป็นประชามติที่อยู่ในการเลือกตั้ง"

นักวิชาการประเมินท่าทีล่าสุดของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตรต่อกรณี ม. 112 ว่าอาจจะมีผลต่อเป้าหมายพรรคเพื่อไทยที่ต้องการมีผลการเลือกตั้งแบบ "แลนด์สไลด์" หรือ ถล่มทลาย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เรียกร้องการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง

ด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ประกาศสนับสนุนและเข้าร่วมการรณรงค์เรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 ของ "คณะราษฎรยกเลิก 112" ที่เปิดตัวเมื่อวันที่ 31 ต.ค.

"จุดยืนของผมเรื่อง 112 คือ ยกเลิก 112 พร้อมกับยกเลิกความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาททั้งระบบ ให้ผู้เสียหายไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนทางแพ่ง โดยกำหนดว่ากรณีที่ติชมโดยสุจริตหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ เรียกค่าสินไหมทดแทนไม่ได้" นายปิยบุตรโพสต์ข้อความในทวิตเตอร์

เขายังให้ความเห็นต่อท่าทีของพรรคการเมืองในเรื่องนี้ด้วยว่า การเมืองไทยจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองที่นำความคิดของสังคม นำความคิดผู้คน พรรคการเมืองต้องไม่นำกระแสสังคมมาดำเนินการอย่างเดียว แต่ต้องชี้นำสังคมในสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่เป็นไปตามอุดมการณ์พรรค

"หากชัดเจนในจุดยืน ไม่ไหวเอนกับการชิงไหวชิงพริบเรื่องชิงอำนาจมากไป พรรคอาจได้คะแนนน้อยลงหรือมากขึ้น ไม่มีใครรู้ แต่วันใดที่สังคมต้องการแบบจุดยืนของพรรค คะแนนก็หลั่งไหลมาทันที" อดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าว