ฮาโลวีน: ถอดหน้ากาก "นักล่าท้าผี" เผยเบื้องลึกวิทยาศาสตร์เทียมที่คนนิยมสูงสุด

รูปตะเกียงฟักทองในป่า

ที่มาของภาพ, Getty Images

หนึ่งในกิจกรรมยอดนิยมที่บรรดาผู้รักความตื่นเต้นท้าทายมักทำกันในเทศกาลฮาโลวีน ได้แก่การออก "ตามล่าท้าผี" โดยเที่ยวตระเวนไปตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งมีประวัติชวนสยองขวัญ เพื่อพิสูจน์ว่าจะมีสิ่งลี้ลับอยู่จริงตามคำร่ำลือหรือไม่ และหากโชคดีก็ได้อาจได้พบปรากฏการณ์ประหลาด รวมทั้งได้มองเห็นตัวตนหรือได้ยินเสียงของ "ผี" กับหูและตาตนเอง

ภาพยนตร์และรายการเรียลิตีโชว์ทางโทรทัศน์ ที่บรรดาผู้แสดงและผู้เข้าร่วมรายการพากันออกตามล่าท้าผีนั้น ได้รับความนิยมอย่างสูงทั่วโลกตลอดช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา โดยคนเหล่านี้สวมบทบาทนักวิทยาศาสตร์ ผู้พยายามตรวจจับ "พลังงานบางอย่าง" และค้นหาหลักฐานที่เป็นรูปธรรม เพื่อนำมาอธิบายให้ผู้ชมทั่วไปเข้าใจได้ง่ายว่า สิ่งเหนือธรรมชาติที่พวกเขาอ้างว่าได้พบนั้น มันคืออะไรกันแน่ ?

ทำไมคนเราพร้อมจะเชื่อในสิ่งลี้ลับ

แม้ผู้ที่ได้ชมรายการประเภทตามล่าท้าผีจำนวนไม่น้อยจะออกมาวิจารณ์ว่า เนื้อหาของรายการไม่ได้มีความเป็นวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง และเต็มไปด้วยเรื่องหลอกลวงกับหลักฐานเท็จ ส่วนผู้ร่วมรายการก็ไม่ได้พบเห็นสิ่งใดที่เป็นชิ้นเป็นอันในบ้านร้างหรือป่าช้าผีดุที่ไปเยือนเลยสักครั้ง

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เหล่านักล่าท้าผีก็ยังสามารถเล่าเรื่องและสร้างตำนานสยองบทใหม่ให้กับสถานที่ถูกสาปเหล่านั้นได้ โดยผู้ชมจำนวนมหาศาลจากทุกประเทศและเกือบทุกวัฒนธรรมพร้อมที่จะคล้อยตาม หรือไม่ก็ยิ่งพากันเชื่อในสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติหนักข้อขึ้นกว่าเดิมไปอีก

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า แฟนรายการประเภทนี้ส่วนใหญ่คือผู้ที่มีความเชื่อในเรื่องทางจิตวิญญาณและภูตผีปีศาจฝังใจอยู่แล้ว การที่พวกเขาปักใจเชื่อในสิ่งเหล่านี้ อาจเป็นเพราะมีประสบการณ์ส่วนตัวเป็นเครื่องยืนยัน หรือเชื่อว่าตนเองได้เคยพบเห็นสิ่งลี้ลับมาแล้วจริง ๆ ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต แต่นั่นก็อาจเป็นเพราะเราถูกเงื่อนไขทางสังคมและวัฒนธรรม หล่อหลอมให้พร้อมจะเชื่อและเคารพนบนอบต่ออำนาจเหนือธรรมชาติเสมอ เราจึงพยายามมองหาผีโดยไม่รู้ตัวในแทบจะทุกสถานการณ์

ดร. ท็อก ทอมป์สัน ผู้เชี่ยวชาญด้านตำนานปรัมปราจากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ บอกว่า ความเชื่อในภูตผีและการเล่าเรื่องผีในชีวิตประจำวันนั้น สามารถทำหน้าที่เป็น "สิ่งย้ำเตือนทางศีลธรรม" หรือเป็นหลักคำสอนให้แก่สังคมได้ โดยเหตุผลส่วนใหญ่ที่ผีออกมาหลอกหลอนผู้คนนั้น มักวนเวียนอยู่แต่เรื่องโศกนาฏกรรมจากความล้มเหลวทางศีลธรรม การแก้แค้นทวงคืนความยุติธรรม หรือผลกรรมที่ตามสนองแบบทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

ความเชื่อเรื่องผีจึงกลายเป็นองค์ประกอบทางศีลธรรมที่สังคมจะต้องยึดเหนี่ยวไว้และขาดเสียมิได้ ทั้งยังต้องมีการปลูกฝังให้กับอนุชนคนรุ่นหลังได้สืบทอดกันต่อไปด้วย

หนึ่งในวิทยาศาสตร์เทียมที่ได้รับความนิยมสูงสุด

ผลสำรวจเมื่อปี 2019 ชี้ว่า คนอเมริกันถึง 46% ปักใจเชื่ออย่างหนักแน่นว่าผีมีอยู่จริง แม้จะดำรงชีวิตอยู่ในสังคมสมัยใหม่ที่ยึดถือความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหลักก็ตาม

ที่มาของภาพ, SYFY / GETTY IMAGES

คำบรรยายภาพ,

ซีรีส์ทางโทรทัศน์ "โกสต์ฮันเตอร์ส" หรือ "นักล่าผี" เป็นรายการเรียลิตีโชว์ที่ออกอากาศในสหรัฐฯ ระหว่างปี 2004-2016

แต่ในขณะเดียวกัน อิทธิพลของวิทยาศาสตร์ก็ทำให้การเล่าเรื่องผีผ่านสื่อสมัยใหม่เปลี่ยนไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายการพวกตามล่าท้าผีนั้น เข้ามาอิงอาศัยอยู่กับสัญลักษณ์และคำศัพท์ของวิทยาการล้ำยุคมากขึ้น เพื่อให้ดูมีความเป็นวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือและสอดคล้องกับยุคสมัย แม้โดยเนื้อแท้แล้ว นักล่าท้าผีไม่ได้ลงมือพิสูจน์ปรากฏการณ์ธรรมชาติตามแบบแผนทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง จนทำให้กลายเป็นวิทยาศาสตร์เทียม (Pseudoscience) ไปในที่สุด

ปัญหาอยู่ที่การนิยามความหมายและจำกัดขอบเขตว่าผีนั้นคืออะไร ปรากฎการณ์แบบไหนเป็นสิ่งบ่งบอกว่ามีผีอยู่ได้บ้าง และจะใช้สิ่งใดเป็นเครื่องมือตรวจวัดผีที่เชื่อถือได้

ช่องโหว่ที่เกิดจากการไม่สามารถตอบคำถามข้างต้น ทำให้ผู้จัดรายการประเภทล่าท้าผีรับผลประโยชน์ในส่วนนี้ไปอย่างเต็มที่ เพราะแม้เพียงตรวจจับความเคลื่อนไหวบางอย่าง เช่นแสง สี เสียง กลิ่น ได้อย่างเลือนรางหรือชั่วแวบเดียว ก็อาจนำมาอ้างได้ว่านั่นคือการปรากฏตัวของผีแล้ว แม้จะไม่ได้เจอเข้ากับผีที่มีหน้าตาชัดเจนตามขนบดั้งเดิม เช่นร่างโครงกระดูกหรือหญิงผมยาวใส่ชุดขาวเลยก็ตาม

ซีรีส์ทางโทรทัศน์ "โกสต์ฮันเตอร์ส" (Ghost Hunters) หรือ "นักล่าผี" เป็นรายการเรียลิตีโชว์ที่ออกอากาศในสหรัฐฯ ระหว่างปี 2004-2016 และได้รับความนิยมอย่างสูงในหลายประเทศ แต่ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ได้ออกอากาศไปถึง 230 ตอน ไม่พบว่ามีตอนใดที่สามารถตรวจจับร่องรอยของผีได้อย่างจริงจังเลย แม้ว่าทีมงานจะนำอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์หลายชนิดเข้ามาใช้ เช่นเครื่องตรวจจับสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (EMF) อุปกรณ์ตรวจวัดไอออน เครื่องวัดกัมมันตรังสีไกเกอร์เคาน์เตอร์ (Geiger counter) กล้องอินฟราเรด และไมโครโฟนความไวสูง

นักล่าท้าผีสร้างหลักฐานอย่างไร

ดีแลน แอนเดอร์สัน นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเรื่องการนำเสนอสิ่งเหนือธรรมชาติในวัฒนธรรมประชานิยม (the paranormal in popular culture) เขียนไว้ในบทความของเขาที่ตีพิมพ์ลงวารสาร Anthropology News ฉบับเดือน ก.ย.-ต.ค. 2021 โดยชี้ว่านักล่าท้าผีมีวิธีการที่เป็นแบบแผนแน่นอน ในการพิสูจน์ยืนยันสิ่งลี้ลับที่ตนเองตามหา

ที่มาของภาพ, Getty Images

แอนเดอร์สันเรียกวิธีการนี้ว่า "แบบจำลองทางปรจิตวิทยาของการล่าผี" (parapsychological model of ghost hunting) โดยบรรดานักล่าท้าผีจะใช้รูปแบบภายนอกของวิทยาศาสตร์ หรือสัญลักษณ์ทางวิทยาศาสตร์บางอย่าง ประกอบสร้างผีของพวกเขาขึ้นมา

นักล่าท้าผีจะมองว่า วิญญาณนั้นมีอยู่จริงในโลกนี้ รวมทั้งเป็นสิ่งที่อยู่ภายใต้กฎธรรมชาติซึ่งยังไม่มีผู้ใดค้นพบและทำความเข้าใจได้ แต่อย่างไรก็ตาม พวกเขาจะพยายามใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ทำให้สิ่งที่ไม่มีตัวตนปรากฏเป็นรูปธรรมขึ้นมา ซึ่งผลตรวจวัดจากอุปกรณ์เหล่านี้จะช่วยพิสูจน์ถึงประวัติความเป็นมาของสถานที่ผีสิงว่าเป็นเรื่องจริง และภูตผีที่อยู่ตรงนั้นก็มีอยู่จริง

อย่างไรก็ตาม ผลตรวจวัดจากเครื่องมือวิทยาศาสตร์ในรายการล่าท้าผี มักเป็นข้อมูลที่ไม่มีความเกี่ยวข้องและไม่สามารถใช้บ่งชี้ถึงข้อเท็จจริงใด ๆ เกี่ยวกับวิญญาณหรือพลังงานลึกลับที่พยายามพิสูจน์ได้

ในระยะหลัง นักล่าท้าผีในหลายรายการได้นำเอาอุปกรณ์ที่ใช้ในเกมคอมพิวเตอร์ เช่นกล้องติดตามความเคลื่อนไหว Kinect ซึ่งใช้กับเกมที่เล่นบน Xbox 360 มาตรวจจับความเคลื่อนไหวของบรรยากาศในสถานที่สยอง ซึ่งโปรแกรมของ Kinect ที่ผ่านการดัดแปลงให้มองเห็นรูปร่างคนในที่ว่างได้ดี ก็จะสามารถมองเห็น "ผี" รวมทั้งใช้จุดและเส้นวาดโครงร่างของ "ผี" ที่กำลังเคลื่อนไหวในอิริยาบถต่าง ๆ ได้เป็นตุเป็นตะ ทั้งที่ไม่ปรากฏข้อมูลแหล่งที่มาของความเคลื่อนไหวนั้นอยู่จริง

แต่ทว่าสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งทำให้แฟนรายการเชื่อเรื่องราวของภูตผีที่สื่อนำเสนอได้อย่างสนิทใจนั้น ไม่ใช่หลักฐานที่เป็นวิทยาศาสตร์เทียม แต่เป็นการสร้างตำนานเรื่องเล่าขึ้นใหม่ (Creating lore) โดยอาศัยข้อมูลวิทยาศาสตร์ปลอมและการแสดงละครที่เกิดขึ้นขณะออกผจญภัยสำรวจจุดต่าง ๆ เป็นสะพานไปสู่การตีความ เชื่อมโยงการกระทำของ "ผี" ที่พวกเขาได้พบเข้ากับตำนานเล่าขานดั้งเดิมของสถานที่นั้น จนเกิดเป็นเรื่องราวใหม่ที่น่าเชื่อถือ ซึ่งผู้คนจำนวนไม่น้อยนิยมรับชมรับฟังกันในทุกวันนี้