โลกร้อน: เซ็กส์แบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมคืออะไร ช่วยชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้หรือ

Condoms in bright colours

ที่มาของภาพ, Getty Images

เวลาที่คนเราคิดหาวิธีลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ แทบจะไม่ค่อยมีใครคิดว่าการมีเซ็กส์ก็เป็นปัจจัยหนึ่ง

แต่จะว่าไปแล้วช่วงหลัง ๆ มานี้ มีการค้นหาทางอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น ถุงยางอนามัยแบบมังสวิรัติ หรือผลิตภัณฑ์คุมกำเนิดที่จะไม่ก่อให้เกิดของเสีย

เซ็กส์แบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมคืออะไร

ที่มาของภาพ, Courtesy of Dr Adenike Akinsemolu

คำบรรยายภาพ,

ดร.เอคคีนเช็มโอลลู

ดร.เอ็ดเดนีเค เอคคีนเช็มโอลลู นักวิทยาศาสตร์ด้านความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม จากไนจีเรีย บอกว่า การมีเซ็กส์แบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นสำหรับคนบางคนแล้วหมายถึงการเลือกใช้เจลหล่อลื่น เซ็กส์ทอย ผ้าปูเตียง และถุงยางอนามัย ที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อโลกน้อย ส่วนสำหรับคนอีกกลุ่ม เธอบอกว่าเป็นการถึงคิดถึงวิธีการผลิตหนังโป๊ที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อคนที่ทำงานในอุตสาหกรรมนี้และสิ่งแวดล้อม น้อยลง

ดร.เอคคีนเช็มโอลลู บอกว่า ทั้งสองตัวอย่างล้วนมีน้ำหนักและสำคัญทั้งหมด

กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UN Population Fund) ประเมินว่ามีการผลิตถุงยางอนามัยราว 1 หมื่นล้านชิ้นต่อปี และส่วนใหญ่ก็ถูกนำไปทิ้งเป็นขยะฝังกลบ นั่นเพราะถุงยางส่วนใหญ่ทำจากลาเท็กซ์สังเคราะห์ และสารเคมีต่าง ๆ ที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้

ถุงยางที่ทำจากแกะซึ่งใช้กันมาตั้งแต่สมัยโรมันเป็นถุงยางประเภทเดียวที่ย่อยสลายได้ แต่ถุงยางแบบนั้นซึ่งทำจากลำไส้ของแกะ ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้

ส่วนสารหล่อลื่นหลายประเภทก็ทำจากน้ำมันปิโตรเลียม นั่นหมายความว่ามีเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่ในนั้น หลัง ๆ มาจึงมีความนิยมเลือกใช้สารหล่อลื่นที่ทำจากน้ำหรือที่เป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก หรือของที่ทำจากธรรมชาติไม่มีสารปนเปื้อนแต่อย่างใด แทน

อย่างไรก็ดี ผู้ที่อยากจะใช้สารหล่อลื่นทางเลือกเหล่านี้ควรศึกษาหาข้อมูลให้ดีก่อนเพราะผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมบางประเภทไม่สามารถใช้กับถุงยางอนามัยเพราะอาจทำให้ถุงยางรั่วได้

นอกจากนี้ คนที่ใช้เซ็กส์ทอยที่ทำจากพลาสติกก็อาจจะหันไปใช้แบบที่ทำจากเหล็กหรือแก้วแทน และมีแบบที่ชาร์จได้ด้วย ไม่ต้องใช้ถ่าน ปัจจุบันยังมีเซ็กส์ทอยแบบที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้เลือกซื้อด้วย

ลดของเสียอย่างไรได้อีก

ยังมีแง่มุมอื่น ๆ เกี่ยวกับการมีเซ็กส์ที่หากว่าเราปรับเปลี่ยนมันเสียหน่อยก็จะช่วยลดการก่อขยะได้ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อกางเกงในและเสื้อผ้าซึ่งมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หลีกเลี่ยงการมีเซ็กส์ระหว่างอาบน้ำ ใช้น้ำร้อนให้น้อยลง รวมถึงการไม่เปิดไฟทิ้งไว้

ลอเร็น ซิงเกอร์ เจ้าของธุรกิจและอินฟลูเอนเซอร์ของแนวคิดด้านลดขยะเป็นศูนย์ (zero-waste) ที่นิวยอร์ก บอกว่า สิ่งที่บริษัทใหญ่ ๆ ทำได้คือคิดเรื่องการลดปริมาณหีบห่อและกล่องบรรจุผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นถุงยางอนามัย สารหล่อลื่น หรือยาคุมกำเนิดที่กินเป็นประจำทุกวัน ที่สุดท้ายก็จะไปลงเอยเป็นขยะฝังกลบ

ที่มาของภาพ, Lauren Singer

คำบรรยายภาพ,

ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา ลอเร็นดำเนินชีวิตโดยไม่ใช้อะไรที่ทำให้เกิดขยะเลย

ห่วงอนามัย หรือห่วงคุมกำเนิด (Intrauterine device) หรือยาฝังคุมกำเนิด ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้เกิดขยะน้อยลง แต่ต่างก็มีข้อเสียในตัวเอง

ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา ลอเร็นดำเนินชีวิตโดยไม่ใช้อะไรที่ทำให้เกิดขยะเลย และเธอก็เก็บทุกอย่างที่เธอไม่สามารถรีไซเคิลได้ไว้ในโหลแก้วตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

แต่ในโหลแก้วเหล่านี้ ไม่มีถุงยางอนามัยรวมอยู่ด้วยเพราะลอเร็นขอให้คนที่จะมีเซ็กส์ด้วยทุกคนไปตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก่อน

อย่างไรก็ดี เธอบอกว่าคนไม่ควรเลี่ยงใช้ถุงยางอนามัยเพราะต้องการลดขยะ เพราะไม่มีอะไรที่ไม่ยั่งยืนเท่ากับการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ หรือไปติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ผลกระทบของการสืบพันธุ์

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่จัดทำขึ้นเมื่อปี 2017 ชี้ว่าการใช้ชีวิตโดยไม่ใช้รถเลยจะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 2.3 ตันต่อปี ส่วนการกินอาหารที่ทำจากพืชอย่างเดียวจะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 0.8 ตันต่อปี แต่ถ้าคุณอาศัยอยู่ในประเทศที่เจริญแล้ว การไม่มีลูกจะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 58.6 ตันต่อปี

บุคคลที่มีชื่อเสียงหลายคนก็เคยพูดถึงประเด็นนี้มาแล้ว อย่างเจ้าชายแฮร์รี ดยุคแห่งซัสเซกซ์ ทรงบอกกับนิตยสารโว้กเมื่อปี 2019 ว่าพระองค์และเมแกน ดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ พระชายา จะไม่มีทายาทมากกว่า 2 คน โดยมีเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญ

ตอนนี้ ในหลายประเทศทั่วโลกมีอัตราการเกิดลดลง แต่ก็ไม่อาจบอกได้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยเดียวของแนวโน้มนี้ที่เป็นมาหลายทศวรรษแล้ว

จะไม่มีลูก

หลายคนตัดสินใจว่าจะไม่มีลูกด้วยเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม อย่าง ทันมาย ชินเด ซึ่งอาศัอยู่ที่นครมุมไบในอินเดีย บอกว่า เขาจะไม่มีลูกนอกจากจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการช่วยลดคาร์บอนและหยุดภาวะโลกร้อน

ที่มาของภาพ, Tanmay Shinde

คำบรรยายภาพ,

ทันมาย ชินเด

เขาบอกว่าครอบครัวของเขาไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงตัดสินใจแบบนี้ เพราะเมื่อแต่งงานแล้วการมีลูกถือเป็นเรื่องสำคัญมาก และเขายอมรับว่าตัวเองยังโชคดีกว่าผู้หญิงอินเดียที่จะต้องเผชิญแรงกดดันมากกว่าในเรื่องนี้

ด้านศาสตราจารย์คิมเบอร์ลี นิโคลัส อาจารย์จากมหาวิทยาลัยลุนด์ในสวีเดน ซึ่งเป็นคนหนึ่งที่ร่วมทำงานวิจัยที่พบว่าเด็กในประเทศที่พัฒนาแล้วมีส่วนทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศสูงมาก บอกว่าไม่ได้ต้องการจะบอกว่าคนไม่ควรมีลูก เพราะเรื่องนี้เป็นสิทธิส่วนบุคคล "สิ่งที่ฉันทำคือทำงานเพื่อให้เด็กที่เกิดมาแล้วอยู่ในโลกและสังคมที่ปลอดภัย"

กลับมาที่นิวยอร์ก ในฐานะคนที่ใช้เวลา 1 ใน 3 ของช่วงชีวิตโดยไม่ทำให้เกิดขยะของเสียเลย ลอเร็นยังสองจิตสองใจเรื่องการมีลูก

คำถามที่เธอถามตัวเองคือ สามารถมีลูกโดยที่ไม่ทำให้เกิดของเสียในโลกเลยได้หรือเปล่า

"มันจะเป็นประโยช์ต่อโลกโดยรวมหรือเปล่า ? ฉันสามารถส่งต่อค่านิยมนี้ไปยังลูกซึ่งจะมีชีวิตอยู่นานกว่าฉัน และมุ่งสร้างโลกที่ดีกว่านี้ได้หรือไม่ ?"