สัญญาณปริศนาจากดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้ระบบสุริยะที่สุด ไม่ใช่เทคโนโลยีของเอเลียน

รูปจานรับสัญญาณสีแดง

ที่มาของภาพ, CSIRO

คำบรรยายภาพ,

กล้องโทรทรรศน์วิทยุพาร์กส์ (Parkes Telescope) ที่รัฐนิวเซาท์เวลส์ของออสเตรเลีย

เมื่อเดือนธันวาคมของปีที่แล้ว หลายคนคงรู้สึกตื่นเต้นกับข่าวผลตรวจสอบสัญญาณวิทยุปริศนา BLC1 ซึ่งถูกส่งมาจาก "พร็อกซิมา เซนทอรี" (Proxima Centauri) ดาวฤกษ์และระบบดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้กับระบบสุริยะของเรามากที่สุด โดยผลตรวจสอบเบื้องต้นในครั้งนั้นชี้ว่า มีความเป็นไปได้ที่สัญญาณดังกล่าวจะมาจากแหล่งเทคโนโลยีของมนุษย์ต่างดาว

อย่างไรก็ตาม ทีมนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ของโครงการ Breakthrough Listen ได้ออกมาแถลงผลการตรวจสอบซ้ำครั้งล่าสุดที่น่าผิดหวังว่า สัญญาณ BLC1 ไม่มีเอกลักษณ์บ่งชี้ถึงการเป็นผลผลิตของเทคโนโลยีต่างดาว แต่เป็นเพียงสัญญาณแทรกสอดรบกวนจากบนโลก ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับสัญญาณจากเอเลียนที่นักวิทยาศาสตร์กำลังมองหาอยู่เท่านั้น

มีการตีพิมพ์ผลตรวจสอบครั้งล่าสุดนี้ลงในวารสาร Nature Astronomy โดยดร. แดนนี ซี. ไพรซ์ นักวิจัยอาวุโสจากมหาวิทยาลัยเคอร์ทินของออสเตรเลีย ซึ่งร่วมทำงานในโครงการ Breakthrough Listen ได้อธิบายในบทความของเขาที่ลงเผยแพร่ในเว็บไซต์ The Conversation ว่า

"สัญญาณ BLC1 ถูกค้นพบโดยบังเอิญ ระหว่างที่นักวิทยาศาสตร์เฝ้าติดตามดูการปะทุลุกจ้า (flare) ของพลังงานจากดาวฤกษ์พร็อกซิมา เซนทอรี ซึ่งอยู่ห่างจากโลกเพียง 4.2 ปีแสง ดาวฤกษ์นี้ยังมีดาวเคราะห์บริวารชื่อพร็อกซิมา บี ที่อาจมีสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตด้วย "

"ในการตรวจสอบเบื้องต้นเมื่อปีก่อน สัญญาณ BLC1 มีลักษณะหลายประการที่เข้าเกณฑ์ของสัญญาณซึ่งมีเอกลักษณ์บ่งชี้ถึงเทคโนโลยีต่างดาว (technosignature) เช่นจะตรวจพบสัญญาณนี้ได้ ก็ต่อเมื่อนักวิทยาศาสตร์สังเกตการณ์ไปในทิศทางของดาวพร็อกซิมา เซนทอรี โดยตรงเท่านั้น และจะไม่พบสัญญาณนี้ในส่วนอื่นของท้องฟ้า"

ที่มาของภาพ, GETTY IMAGES

"นอกจากนี้ สัญญาณดังกล่าวยังเคลื่อนไหวอยู่ในย่านของคลื่นความถี่แคบ ๆ โดยจะขยับเปลี่ยนแปลงความถี่ไปเล็กน้อยทุก 5 ชั่วโมง ซึ่งเป็นลักษณะของปรากฏการณ์ดอปเปลอร์ (Doppler effect) ทำให้เราทราบว่ามันไม่ได้มาจากแหล่งกำเนิดคลื่นวิทยุที่ถูกตรึงอยู่กับที่บนพื้นโลก และไม่ใช่สัญญาณจากการแทรกสอดของคลื่นรบกวน ที่มักมาจากเครื่องบินหรือดาวเทียม"

"อย่างไรก็ตาม น่าเสียดายว่าข้อมูลล่าสุดจากกล้องโทรทรรศน์วิทยุพาร์กส์ในออสเตรเลียชี้ว่า พบสัญญาณที่คล้ายกับ BLC1 แต่ชี้ชัดได้ว่าไม่ใช่สัญญาณจากต่างดาวอย่างแน่นอน ทำให้สรุปได้ว่า BLC1 ไม่ใช่สัญญาณจากเอเลียน"

"เราสันนิษฐานว่า BLC1 และสัญญาณที่ดูคล้ายกัน อาจเกิดจากการผสมคลื่น 2 ความถี่ (intermodulation) จนเกิดเป็นการแทรกสอดแบบใหม่ขึ้นมา" ดร. ไพรซ์ กล่าว

เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่นักวิทยาศาสตร์ในโครงการ Breakthrough Listen ได้ดักฟังคลื่นวิทยุจากห้วงอวกาศเพื่อค้นหาร่องรอยของเอเลียน โดยพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ค้นหาสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาต่างดาวหรือเซติ (SETI) อันโด่งดัง ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ประสบความสำเร็จตามจุดมุ่งหมาย