“Space may be the final frontier but it’s made in a Hollywood basement ” ท่อนหนึ่งในเพลง Californication ของ Red Hot Chili Peppers อาจจะกล่าวไว้ได้อย่างถูกต้องเกี่ยวกับการสำรวจอวกาศ อวกาศนั้นคือพรมแดนสุดท้ายก็จริง แต่แท้จริงแล้ว จุดเริ่มต้นของมันก็มาจากวงการบันเทิง (ห้องใต้ดินซักที่ใน Hollywood) ซึ่งพูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าการไปลงจอดบนดวงจันทร์เป็นเรื่องโกหก (ฮา) แต่มันหมายถึงว่าถ้าหากปราศจากอิทธิพลของสื่อและวงการบันเทิง การสำรวจอวกาศก็คงไม่อาจเกิดขึ้นได้
จริงอยู่ที่การสำรวจอวกาศจำเป็นต้องอาศัยฟิสิกส์ วิศวกรรม และประดิษฐกรรมต่าง ๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น แต่หากปราศจากจินตนาการแล้ว มนุษย์ก็ไม่อาจไปไหนได้ การร้อยเรียงเรื่องราวประวัติศาสตร์การสำรจอวกาศจากอดีตจนถึงปัจจุบัน จึงถูกยึดโยงไว้กับนิยาย, Sci-Fi ต่าง ๆ มาโดยตลอด ตั้งแต่ A Trip to The Moon, War of the World จนถึง The Foundation และ Star Wars มาจนถึงยุคปัจจุบันที่เราอาจจะเคยได้ดูภาพยนตร์อย่าง Interstellar และ The Martian ทั้งหมดนี้ไม่ล้วนแต่มีอิทธิพลต่อการสำรวจอวกาศในแต่ละยุคอย่างปฏิเสธไม่ได้
แม้กระทั่งโครงการอวกาศครั้งแรกที่เกิดขึ้น ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง Wernher von Braun บิดาแห่งการสำรวจอวกาศสหรัฐฯ ยังต้องใช้ความช่วยเหลือจาก Walt Disney เพื่อใช้ “อิทธิพลของสื่อ” สร้างภาพจำ จินตนาการ และความฝันในการสำรวจอวกาศ ทำให้เกิดสื่ออวกาศยุคแรก ๆ ที่มีเป้าหมายมุ่งเน้นไปที่การผลัดกันโครงการอวกาศ เพื่อแข่งกับสหภาพโซเวียตในตอนนั้น
แต่รู้หรือไม่ว่าในปัจจุบัน คอนเทนต์ ได้กลายมาเป็นเครื่องมืออีกครั้ง ไม่ต่างกับในยุคสงครามเย็น ถ้าเราจะสังเกตดูเราจะเห็นว่า เราเห็นสื่ออวกาศเยอะขึ้นมาก เอาที่เห็นกันชัด ๆ ในตอนนี้ก็เช่น โครงการ Inspiration4 ที่ร่วมมือกับ Netflix ทำเป็นสารคดีออกมา หรือสื่ออวกาศอื่น ๆ บน Netflix ที่มีอยู่เต็มไปหมด (สารคดีฝั่ง Original Content ก็เยอะมากเช่นกัน) นอกจากนี้ รัสเซียเองก็ไม่น้อยหน้า ประกาศถ่ายทำภาพยนตร์ครั้งแรกบนสถานีอวกาศนานชาติ และส่งดารานักแสดง ขึ้นไปกับยาน Soyuz ของตน เดินทางสู่สถานีอวกาศนานาชาติ
อ่านเรื่องวิศวกรรมอวกาศ ช่วยเปิดโอกาสให้คนจากหลายหลายสาขา เข้าถึงอวกาศได้อย่างไร ในบทความ – กระสวยอวกาศ ประวัติศาสตร์ของการเดินทางสู่ความเท่าเทียมแห่ง เพศ ชาติพันธุ์ และมนุษยชาติ
เมื่อภารกิจอวกาศ กับภาพยนตร์จะไม่แยกกันอีกต่อไป แต่เป็นภารกิจเดียวกัน
สิ่งที่น่าจับตามองก็คือ ในยุคยุคหนึ่งอวกาศกับสื่อนั้นแม้จะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อส่งเสริมกันและกันก็จริง แต่เราก็จะไม่ได้เห็นมันมาอยู่ในเหตุการณ์เดียวกัน อธิบายง่าย ๆ ก็คือ ถ้าไม่ได้เป็นหนังที่ถูกถ่ายทำ หรือนิยายที่ถูกแต่งขึ้น (2001 Space Oddsey, Star Wars, Star Trek, The Martian, Interstellar) ก็จะเป็นสารคดีที่ใช้ภาพหรือ Footage จากภารกิจการสำรวจอวกาศไปเลย (เช่น สารคดี Apollo 11 ที่มีการนำเอาฟีล์มที่หายไปกว่า 50 ปีมาเรียบเรียงใหม่) แต่ช่วงหลัง ๆ นี้ เราจะได้เห็นภารกิจการสำรวจอวกาศที่รวมเอาแนวคิดของการทำสื่อเข้าไปในภารกิจตั้งแต่แรก อย่างเช่น Inspiration4 นั้น ก็วางแผนไว้แล้วว่าจะต้องมีการถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีออกมา
หรือกรณีของรัสเซีย ที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง “Вызов” (ภาษารัสเซีย แปลว่าท้าทาย) ก็ประกาศชัดเจนเลยว่า ภารกิจนี้เป้าหมายหลักก็คือเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์ โดยมีการส่งผู้กำกับ Klim Shipenko วัย 38 ปี และนักแสดงหญิง Yulia Peresild วัย 37 ปี ซึ่งเธอเคยได้รับรางวัล Golden Eagle Award (อารมณ์ประมาณสุพรรณหงษ์ของรัสเซีย) มาแล้ว ขึ้นไปถ่ายทำภาพยนตร์บบนอวกาศ นับว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการถ่ายทำภาพยนตร์บน ISS จริง ๆ
โครงการภาพยนตร์เรื่อง “Вызов” นั้นก็นับว่าตัดหน้าสหรัฐฯ ไป เพราะก่อนหน้านี้ Tom Cruise ถูกกำหนดไว้ว่าจะเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์ แต่ก็มาถูกรัสเซียตัดหน้าไปเสียก่อน ( อ่าน – วิเคราะห์ Tom Cruise จะไปถ่ายหนังบนอวกาศ )
แล้วทำไมต้องแข่งกันทำคอนเทนต์ด้วย
แน่นอนว่าอวกาศหนีไม่พ้นการเมือง และสื่อก็คงหนีไม่พ้นการเมืองเช่นกัน ช่วงหลัง ๆ นี้มีหลาย ๆ เหตุการณ์ที่อาจจะมีความเกี่ยวเนื่องกัน ตั้งแต่โครงการนานาชาติ Artemis ที่จะพามนุษย์กลับไปเหยียบดวงจันทร์อีกครั้งในปี 2024 หรือแผนการความร่วมมือสำรวจอวกาศระหว่างรัสเซียและจีน หลังจากที่รัสเซียประกาศหันหลังให้สหรัฐฯ และถอนตัวจากโครงการสถานีอวกาศนานาชาติ
ทั้งหมดนี้ทำให้คาดเดาได้อย่างไม่ยากว่า รัสเซียอาจจะต้องการสร้างฐานในฝั่งอวกาศของตัวเอง เพราะถ้าพูดถึงเรื่องการสำรวจอวกาศในมิติของสื่อแล้ว เราก็จะคุ้นชินกับสื่อจากฝั่งตะวันตกมากกว่า พูดถึงหนังอวกาศเราก็จะนึกถึง Star Wars, 2001 Space Oddsey, The Martian, Interstellar, Gravity, Dune, War of The World ต่าง ๆ ทั้งที่จริง ๆ รัสเซียเองก็ลงทุนด้านสื่อกับอวกาศไม่น้อย ภาพยนตร์หลาย ๆ ตัวก็เป็นงานชั้นครู แต่เราไม่รู้จักกัน เช่น “Салют 7” (ซัลลูท 7) ภาพยนตร์เรื่องสถานีอวกาศ Salyut 7 ของรัสเซีย (ซึ่งก็เป็นผลงานการกำกับของ Klim Shipenko นั่นแหละ), “Время первых” (ครั้งแรก) ภาพยนตร์เล่าเรื่องการทำ Space Walk ครั้งแรกของ Alexey Leonov ทำกับโดย Dmitriy Kiselev หรือ Sci-Fi ในตำนานอย่าง Solaris ก็มาจากฝั่งรัสเซียเช่นกัน (ซึ่ง Solaris นี่คนในวงการกราบไหว้ชาบูมากนะ – แต่ถ้าทั่ว ๆ ไปให้เทียบกับ 2001 คนก็น่าจะรู้จัก 2001 มากกว่าอยู่ดี)
อย่างที่บอกไปว่า ไม่ใช่ว่าความพยายามการทำคอนเทนต์จากอวกาศมาเกิดขึ้นในช่วงหลัง ๆ แต่จริง ๆ มันมีมานานมาก ๆ แล้ว แค่การเข้าถึงทรัพยากรยังเป็นข้อจำกัด ที่ทำให้การทำสื่อกับการสำรวจอวกาศมาเจอกันพอดี เรามาลองค่อย ๆ นึกภาพตาม เมื่อก่อนลักษณะของคอนเทนต์ก็เป็นคอนเทนต์พื้นบ้าง เพลงพื้นบ้าน นิทานพื้นบ้าน นิทานดาว ตำนานเรื่องเล่า อะไร ๆ ก็พื้นบ้านไปหมด คือใครนึกจะแต่งก็แต่ง ใครจะเล่าก็เล่า เป็นมุขปาฐะ (เรื่องเล่าปากต่อปาก) แต่พอมาถึงยุคที่เริ่มมีการสร้างแนวคิดความเป็นชาติ อำนาจการสื่อสารมันก็ยังเป็นของคนธรรมดาบ้าน ๆ อยู่นี่แหละ แต่อำนาจในการจดบันทึกเรื่องราวกลายเป็นมาอยู่กับรัฐฯ หรือผู้มีอำนาจ ซึ่งจะสร้างเรื่องราว หรือทำลายเรื่องราวใด ๆ ก็ได้
พอมาถึงยุคปฏิวัติอุสาหกรรม ก็เกิดลัทธิบริโภคนิยม และ Mass ขึ้นมา ทำให้คอนเทนต์ต่าง ๆ เริ่มมีแบบแผนชัดเจน เกิด Mass Media ขึ้นมา และผู้มีอำนาจก็สามารถที่จะกำหนดทิศทางของสื่อได้ รวมถึงการเกิดขึ้นของการพัฒนาเทคโนโลยีสื่อในสงครามโลก (วิทยุ โทรทัศน์) ก็ทำให้ผู้ครองครองสื่อเป็นคนเดียวกับผู้มีอำนาจ (รัฐบาล, กองทัพ, ทหาร) เป็นเหตุผลว่าทำไม ช่องทีวีถึงเป็นของทหาร (ช่อง 3, 5, 7, 9 ต่าง ๆ)
อวกาศก็คือเหมือนกันเป๊ะ เมื่อก่อนมันก็เป็นเรื่องมุขปาฐะ เรื่องตามวัฒนธรรม ใครจะเล่าตำนานดาว ดาวลูกไก่ ลูกเป็ด ลูกเจี๊ยบ อะไร มีตำนาน มีนิทานเป็นของตัวเอง ก็เล่ากันไปบนดวงจันทร์มีกระต่าย มีแพะ มีม้าลาย ใคร ๆ ก็ทำได้ แต่ถามว่าให้ไปสำรวจเองทำได้มั้ย ก็ไม่ได้ ก็ต้องผูกติดกับผู้มีอำนาจอยู่ดี
ทีนี้ถามว่ามาเจอกันตรงไหน มันก็มาเจอกันที่การ Democratization ของทั้งสื่อและอวกาศนั่นแหละ สมัยนี้ถ้าเราอยากมีอำนาจในการสื่อสาร เราไม่จำเป็นต้องเป็นทหารหรือรัฐอีกแล้ว สมมติอยากทำคอนเทนต์ก็เป็น Youtuber, Blogger, Instagramer, TikToker, Only-Fanner, Pornhubber ได้ตามที่เราต้องการ รัฐจะแบน จะไม่ชอบ จะไม่เห็นด้วย ก็เรื่องของมึงดิ ทำให้การเติบโตของ Content ในปัจจุบัน ค่อนข้าง Organic ส่วนอวกาศนั้น การทำภารกิจอวกาศก็ไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐอีกต่อไปแล้ว เด็ก ๆ มัธยมก็สามารถทำดาวเทียม ทำโครงการอวกาศเป็นของตัวเองได้ ทำให้การตีความอวกาศเป็นไปอย่างอิสระมากขึ้น แค่ใน 2-3 ปีที่ผ่านมาในไทย พัฒนาการด้านอวกาศไทยก็เป็นไปอย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะโครงการ ไข่มุกจันทรา ของ Freak Lab, โครงการดาวเทียม Knacksat และ BCC Sat หรือภารกิจ MESSE ของ Spaceth ก็เป็นผลมาจาก Space Democratization ที่เปิดโอกาสให้เราได้ตีความอวกาศตามแบบของเราเอง
แล้วถ้ารัฐฉลาดพอ เขาจะไม่ห้าม แถมสนับสนุนเสียอีก ไม่ใช่อยากจะเก็บเอาไว้ทำคนเดียว ทำตัวเหมือนประเทศแถวนี้ที่คิดว่าตัวเองอยู่ในสมัยสงครามโลกหรือเปล่าก็ไม่รู้
อ่าน – Democratizing Access to Space อวกาศเป็นของราษฎรและมนุษยชาติ
แม้กระทั่งเกาหลีใต้ เจ้าแห่ง Pop Culture ก็หันมาทำสื่อด้านอวกาศเยอะขึ้นมาก จะสังเกตหลัง ๆ นี้ภาพยนตร์แนว Sci-Fi มีออกมาให้เราได้เห็นกันบ่อย ๆ ตั้งแต่ Space Sweeper หรือ Sissyphus
ดังนั้น ถ้าเรามองการแข่งขันด้านอวกาศจากฝั่งของสื่อ ซึ่งแน่นอนว่าตอนนี้อาจจะมีนัยทางการเมืองโดยรัฐแฝงอยู่เสียมาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในอนาคต มันก็จะถูก Democratize เช่นกัน และการทำสื่อ ทำคอนเทนต์ อวกาศในแบบที่ใช้อวกาศเป็นเครื่องมือจริง ๆ ก็จะหลากหลายมากขึ้นด้วย
สื่อจึงเป็น Soft Power ใหม่ ในสงครามการแข่งขันด้านอวกาศอีกครั้งในโลกสมัยใหม่ การสร้าง Space Culture เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการเตรียมคนให้พร้อมกับยุคของอวกาศที่จะมาถึง
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co